หลักสูตรปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์
แนะนำงานวิจัยของสาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์
งานวิจัยของสาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์ เน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เช่น การย้อมสีเส้นใยด้วยสีธรรมชาติโดยใช้มอแดนท์เป็นตัวช่วยยึดสีให้ติดกับผ้า การผลิตเสื้อผ้านาโนชนิดให้กลิ่นหอม และ/หรือป้องกันยุง การผลิตพอลิเมอร์สมรรถนะสูง (high performance polymers) การนำพลาสติกและยางที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะต่างๆ การผลิตเทอร์โมพลาสติกสตาร์ซชนิดมีสมบัติเชิงกลที่ดีและสามารถดูดความชื้นต่ำ การทำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตพอลิเมอร์นำไฟฟ้าสำหรับใช้เป็นจมูกอิเล็กทรอนิกส์และกล้ามเนื้อเทียม (artificial muscle) การผลิตกระดูกเทียม การผลิตไบโอดีเซลและเชื้อเพลิงเหลวจากวัสดุธรรมชาติ การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cells) การผลิตคอมพอสิตประเภทนาโน (nanocomposites) และเส้นใยนาโน (nanofiber) คาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotube) การผลิตยางมะตอยชนิดมีสมรรถนะสูง เป็นต้น ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ เป็นภาควิชาเดียวในมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้เป็นสมาชิกของศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยสังกัดอยู่ในศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์จัดเป็นหนึ่งในห้าของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของประเทศไทย ที่มีการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาอย่างต่อเนื่อง แสดงดังรูปที่ 1 และรูปที่ 2 และสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจในด้านนี้ที่สำคัญมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มบริษัทในเครือปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือเอสซีจี หรือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ในกรณีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย พบว่า ปี 2560 มีสัดส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ในส่วนเคมีภัณฑ์หรือสารปิโตรเคมีถึง 46 % แต่ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์กระดาษและแพคเกจจิ้งมีสัดส่วนรายได้เพียง 36% และ 18 % ตามลำดับดังรูปที่ 3 ทั้งๆ ที่บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินธุรกิจเริ่มแรกจากวัสดุก่อสร้างและตามมาด้วยกระดาษและบรรจุภัณฑ์ แต่ถ้าพิจารณาสัดส่วนกำไรแล้วจะเห็นว่าบริษัทในเครือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มีผลกำไรจากการจำหน่ายพลาสติกและเคมีภัณฑ์ถึง 76% แต่ส่วนสัดส่วนกำไรในผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและแพคเกจจิ้งมีเพียงร้อยละ 13% และ 8% ตามลำดับ ดังแสดงในรูปที่ 4 และเนื่องจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยได้เห็นว่าผลประกอบการและกำไรด้านพลาสติกและเคมีภัณฑ์มีสัดส่วนสูงที่สุด ทางบริษัทฯ จึงมีนโยบายที่จะสร้างโรงงานด้านปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ในประเทศเวียดนาม โดยใช้งบลงทุน 1.73 แสนล้านบาทเพื่อผลิตโอเลฟินส์ 1.6 ล้านตันต่อปีสำหรับใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำประเภทโซ่ตรง (LLDPE) และพอลิพรอพิลีน (PP) ที่มา : (https://www.thaipost.net/main/detail/11179)
ที่มา : หนังสือ Chemical Process Technology, Second Edition
รูปที่ 1 แสดงการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่เกี่ยวกับการผลิตสารปิโตรเคมีขั้นต้น (เอทิลีน โพรพิลีน บิวตะไดอีน เบนซีน โทลูอีน และไซลีนส์)
ที่มา : หนังสือ Chemical Process Technology, Second Edition
รูปที่ 2 แสดงการเติบโตของการผลิตเอทิลีน
ที่มา : รายงานประจำปี 2560 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
รูปที่ 3
ที่มา : รายงานประจำปี 2560 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
รูปที่ 4
จากข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท เปรียบเทียบปี 2559 กับปี 2560 พบว่าเป็นดังตารางข้างล่างนี้
ตารางที่ 1 แสดงคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย เปรียบเทียบ ปี 2559 และ ปี 2560
ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) http://www.boi.go.th
จะเห็นว่าในปี 2560 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วยเงินลงทุนสูงที่สุดถึง 128,127 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 ซึ่งมีเพียง 22,254 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 476% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจ้างงานของบัณฑิตทางด้าน ปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์จะสูงมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ด้วย
นอกจากนี้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2560 กับเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 (ช่วง 3 เดือน) เป็นดังตารางที่ 2 จะเห็นว่าในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2560 มีการขอส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เพียง 4,278 ล้านบาท แต่ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 มีการขอส่งเสริมการลงทุนถึง 161,046 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 3,664 % ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานของผู้สำเร็จการศึกษาทางสาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์จะมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ตารางที่ 2 แสดงคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย เปรียบเทียบเดือนมกราคม – มีนาคม 2561
ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) http://www.boi.go.th
นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีในเครือ ปตท. ของประเทศไทยคือบริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคัล ก็ยังได้ขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 2 โครงการใหญ่ ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ชั้นนำของญี่ปุ่น 2 บริษัทคือ คูราเร จำกัด (Kuraray Co. Ltd.) และบริษัทซุมิโตโมคอร์พอเรชัน (Sumitomo Corporation) รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่ยังไม่เคยมีการผลิตในประเทศไทยมาก่อน และจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เคมีขั้นต้นของประเทศไทยให้สูงมากขึ้น และจะมีมูลค่าส่งออกปีละไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะช่วยสร้างงานให้กับบัณฑิตในสาขาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์ได้มากด้วย
โครงสร้างอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี
ที่มา : Chemical Process Technology First Edition
การสำรวจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ที่มา : Chemical Process Technology First Edition
โครงสร้างมูลค่าการขายผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมีด้านอื่นๆ ของโลก
ที่มา : Chemical Process Technology First Edition
จำนวนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีของประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาของข้อมูล : U.S. Department of Labor (เป็นข้อมูลก่อนปี พ.ศ. 2555)
ตัวอย่างสถานที่ทำงานของบัณฑิตสาขาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์
- บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เชลล์ประเทศไทย
- บริษัท เทยิน (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท ไทยอีพอกซี่ แอนด์ อัลลายด์ โปรดักส์ จำกัด
- บริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บริดจสโตน จำกัด
- บริษัท ฟิลิปส์ เซมิคอนดัคเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท สยามไฟเบอร์กลาส จำกัด
- บริษัท โฮย่า เลนส์ ไทยแลนด์ จำกัด
- บริษัท ไทยบาโรด้า อินดัสตรี้ส์ จำกัด
- บริษัท ไดวา คาซาอิ (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท ไทยมิตซุยสเปเชียลตี้ เคมีคอล จำกัด
- บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อูเบะเคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน)