Intro.


Department’s Info

ประวัติความเป็นมาของภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ

สืบเนื่องจากได้มีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงปีทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา  มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้มีนโยบายที่จะเปิดคณะวิชาใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ชื่อเดิม คือคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) เพื่อที่จะผลิตบัณฑิตให้รองรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม และเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของภูมิภาคตะวันตก รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของประเทศที่จะมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยี  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2534  โดยภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ (ชื่อเดิม คือภาคเทคโนโลยีวัสดุ) เป็นหนึ่งในสามภาควิชาที่เปิดสอนในระยะแรกของการจัดตั้งคณะฯ โดยเปิดสอนในสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุ (เน้นปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์)  ซึ่งทำการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2535 และในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรจากสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุ เป็นสาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์

ปัจจุบันภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุได้เปิดสอน 4 หลักสูตร คือหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์ และสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและนาโนเทคโนโลยี (ชื่อเดิม คือสาขาวิชาวัสดุขั้นสูงและนาโนเทคโนโลยี) หลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์ และหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ทั้งนี้ หลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตรมุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญในประเทศ ได้แก่  อุตสาหกรรมปิโตรเคมี  อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ (เช่น พลาสติก ยาง เส้นใย สิ่งทอ สี สารเคลือบผิว และสารเติมแต่งในพอลิเมอร์)  อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุเซรามิกส์ วัสดุอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุนาโน เป็นต้น

สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ มุ่งเน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในระดับสูงทางด้านสาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์ โดยเน้นกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อให้สามารถแสวงหาความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ และฝึกทักษะการปฏิบัติงานวิจัย จากการผ่านประสบการณ์การทำวิทยานิพนธ์ในงานวิจัยทางสาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์ที่มีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ฝึกให้มีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และมีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่องและมีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพของนักวิจัย ทั้งนี้จากคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์ของภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ ทำให้ภาควิชาฯ ได้รับการสนับสนุนการผลิตบัณฑิตระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์จากศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และวัสดุขั้นสูง (National Center of Excellence for Petroleum, Petrochemicals and Advanced Materials) ภายใต้การบริหารงานของสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศฯ ในส่วนของทุนการศึกษา ทุนวิจัยและทุนเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

หลักสูตรของภาควิชาฯ ที่เปิดสอนมีลักษณะพหุวิทยาการ ซึ่งทำให้บัณฑิตมีพื้นฐานความรู้ที่กว้างและสามารถออกไปประกอบอาชีพได้หลากหลายสาขา

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุได้ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์ (ชื่อเดิม คือสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุ) ไปแล้วจำนวน 3,255 คน บัณฑิตในสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและนาโนเทคโนโลยี  (ชื่อเดิม คือสาขาวิชาวัสดุขั้นสูงและนาโนเทคโนโลยี) จำนวน 483 คน บัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์จำนวน 218 คน และบัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาการและวิศวกรรมพอลิเมอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) จำนวน 12 คน ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุในปัจจุบัน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤทธิ์ ตรีอำนรรค

SAR / Ranking

206118_354502354633425_591883029_n


Update : 10 JUL 2023